พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับล่าสุดได้มีการประกาศใช้เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2560 ซึ่งเป็น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับที่ 2

สำหรับคนที่ต้องใช้งานคอมพิวเตอร์เป็นประจำ หรือทำงานเกี่ยวกับโลกออกไลน์ต้องพึงรู้ไว้เลยค่ะ เพราะหากใช้ไม่ระวัง เราอาจจะเผลอทำผิดกฎหมายได้ วันนี้เราเลยมาฟื้นความจำอีกครั้ง มาดูกันสักหน่อยว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ คืออะไร การกระทำอะไรที่อาจผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พร้อมบทลงโทษ มาดูกันเลยค่ะ

ยาวไปอยากเลือกอ่าน

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ คืออะไร

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ คือพระราชบัญญัติที่ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งคอมพิวเตอร์ที่ว่านี้ก็เป็นได้ทั้งคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค สมาร์ตโฟน รวมถึงระบบต่างๆ ที่ถูกควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ด้วย ซึ่งเป็นพ.ร.บ.ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อป้องกัน ควบคุมการกระทำผิดที่จะเกิดขึ้นได้จากการใช้คอมพิวเตอร์ หากใครกระทำความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์นี้ ก็จะต้องได้รับการลงโทษตามที่พ.ร.บ.กำหนดไว้ค่ะ

ปัจจุบันมีคนใช้คอมพิวเตอร์ รวมถึงสมาร์ตโฟนเป็นจำนวนมาก บางคนก็อาจจะใช้ในทางที่เป็นประโยชน์ แต่บางคนก็อาจใช้สิ่งนี้ทำร้ายคนอื่นในทางอ้อมด้วยก็ได้

เราอาจจะได้ยินข่าวเรื่องการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์อยู่บ้าง ซึ่งบางเหตุการณ์ก็สร้างความเสียหายไม่น้อยเลย เพื่อจัดการกับเรื่องพวกนี้ เลยต้องมีพ.ร.บ.ออกมาควบคุม ในเมื่อการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเรื่องใกล้ตัวเรา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ก็เป็นเรื่องใกล้ตัวเราเช่นกันค่ะ หากเราไม่รู้เอาไว้ เราอาจจะเผลอไปทำผิด โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจก็ได้

พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มีกี่ฉบับ

ประเทศไทย มี พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มาแล้ว 2 ฉบับ คือ ฉบับแรก ปี 2550 และ ฉบับสอง ปี 2560 โดย พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฉบับล่าสุด คือ ฉบับปี 2560

ความแตกต่างสำคัญระหว่างฉบับปี 2560 กับ 2550 คือ แก้ไขมิให้ “ความผิดหมิ่นประมาท” เป็นความผิดตาม พ.ร.บ คอมพิวเตอร์ อีกต่อไป

เพราะในอดีต ความผิดหมิ่นประมาท ถือว่าเข้าข่ายผิด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ซึ่งกฎหมายระบุว่า ไม่สามารถยอมความได้ ดังนั้นแม้ต่อมา คู่ความจะเจรจายอมความสำเร็จ หรืออยากถอนฟ้อง ศาลก็ไม่สามารถใช้ดุลพิจนิจที่จะไม่ลงโทษคู่ความได้ ส่งผลให้มีคดีฟ้องร้องขึ้นศาลจำนวนมากและเกิดปัญหาทางปฏิบัติ

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จึงมีการนำ “ความผิดหมิ่นประมาท” ออกจาก พรบ คอมพิวเตอร์ แต่ไปบังคับใช้ด้วยประมวลกฎหมายอาญาแทน ทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น

Shifu แนะนำ
คุณอาจพบเห็นคำว่า พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ 2564 สงสัยไหมค่ะว่า สรุปแล้ว พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มีกี่ฉบับกันแน่

โดยคำค้นหาว่า พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ 2564 ความจริงหมายถึง ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2564 อันมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเก็บรักษาข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งบังคับใช้กับองค์กรหรือผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต

แต่เมื่อชาวเน็ตค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับประกาศกระทรวงข้างต้น มักพิมพ์คำค้นหาว่า พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ 2564 ส่งผลให้กูเกิ้ลจดจำพฤติกรรมการค้นหาดังกล่าว นี่จึงเป็นเหตุผลว่า เวลาเราพิมพ์คำว่า พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์  จึงมีคำแนะนำว่า พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ 2564 ขึ้นมา

สรุปคือ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ ฉบับล่าสุด คือ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ 2560 ส่วน พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ 2564 ความมุ่งหมายจริงนั้น หมายถึง ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2564

พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ 2560 [ฉบับล่าสุด] มีกี่หมวด กี่มาตรา

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2560 [ฉบับล่าสุด] มีอยู่ 2 หมวด โดยหมวดที่เกี่ยวข้องกับประชาชนคือ หมวด 1 “ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์” เพราะเป็นหมวดที่บอกว่า พฤติกรรมใดที่มีความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และมีบทลงโทษอะไรอย่างไร

โดยหมวด 1 มีมาตราที่ควรสนใจทั้งหมด 11 มาตราดังนี้

Cr:http://arit.mcru.ac.th/laws/

ตัวอย่าง การกระทำความผิดเกี่ยวกับ พรบ คอมพิวเตอร์ พร้อมบทลงโทษ

เรามาดูกันต่อกันค่ะว่า แล้วพฤติกรรมหรือ การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่คนทำงานออนไลน์อย่างพวกเราไม่ควรทำจะมีอะไร แล้วหากทำผิด พรบ คอมพิวเตอร์ มีบทลงโทษ อะไรบ้าง

พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มาตรา 5 | ตัวอย่างการกระทำผิด

พรบ คอมพิวเตอร์ โดนแฮก

การเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ตัวอย่างเช่น

  • การแฮคเกอร์ เข้าไปดูข้อมูลคอมพิวเตอร์คนอื่น โดยไม่ได้รับอนุญาต
  • การใช้ username / password ของผู้อื่น Login เข้าสู่ระบบ โดยไม่ได้รับการอนุญาต

บทลงโทษ

ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มาตรา 9 | ตัวอย่างการกระทำผิด

ทำลาย แก้ไข ดัดแปลง นำไฟล์อันตรายเข้าสู่คอม จนทำให้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นเสียหาย ตัวอย่างเช่น

  • การนำไฟล์อันตราย เช่น ไวรัส มัลแวร์ มาสู่คอมพิวเตอร์ของเพื่อน หรือ คนรู้จัก จนระบบคอมพิวเตอร์เสียหาย
  • การแฮคเกอร์ เข้าไปดูข้อมูลคอมพิวเตอร์คนอื่น โดยไม่ได้รับอนุญาต
  • การใช้ username / password ของผู้อื่น Login เข้าสู่ระบบ โดยไม่ได้รับการอนุญาต

บทลงโทษ

ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มาตรา 11 | ตัวอย่างการกระทำผิด

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

มาตรานี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ค่ะ เพราะเกี่ยวข้องกับการโปรโมทสินค้าบนอินเตอร์เน๊ต โดยการกระทำที่อาจผิด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ 2560 มีดังนี้

  • การส่งข้อมูลหรืออีเมล์ก่อกวนผู้อื่น (สแปม) เพื่อขายสินค้าหรือบริการ จนผู้รับเกิดความเดือดร้อนรำคาญ โดยไม่มีปุ่มให้กดเลิกการรับอีเมล์
  • การฝากร้านใน FB หรือ IG แบบรัวๆ ซ้ำไปซ้ำมา โดยเจ้าของเพจไม่ได้อนุญาต จนเกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่เจ้าของเพจหรือผู้พบเห็น

บทลงโทษ

ต้องระวางโทษ ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท

พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มาตรา 12 | ตัวอย่างการกระทำผิด

กระทำการทำลาย แก้ไข หรือ รบกวนข้อมูลหรือระบบคอมพิวเตอร์ ของระบบสาธารณะ หรือ ความมั่นคง เช่น

  • เจาะเข้าระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งความคุมไฟฟ้าในนครหลวง และสั่งดับไฟฟ้าทั่วเมือง อันก่อให้เกิดความวุ่นวายและมีผลกระทบเป็นวงกว้าง

บทลงโทษ

ต้องระวางโทษ ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท

พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มาตรา 13 | ตัวอย่างการกระทำผิด

จำหน่ายหรือเผยแพร่ชุดคำสั่งเพื่อนำไปใช้กระทำความผิด ตัวอย่างเช่น

  • เป็นผู้จำหน่ายชุดคำสั่งที่ใช้ในการเจาะระบบ หรือ รบกวนข้อมูลคอมพิวเตอร์ เช่น โปรแกรมทำ BOTNET หรือ DOS (Denial of Service)

บทลงโทษ

ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี เดือน ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 | ตัวอย่างการกระทำผิด

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 คือหนึ่งในมาตราที่ประชาชนควรให้สนใจเป็นพิเศษ เพราะเป็นหนึ่งในฐานความผิดที่มีคดีฟ้องร้องมากที่สุด โดยตัวอย่างการกระทำผิด มาตราดังกล่าว มีดังนี้

  • โพสต์หรือแชร์ ข้อมูลปลอม ไม่เป็นความจริง หลอกลวง (อย่างเช่น แม่ค้าออนไลน์โพสต์หลอกลวงเพื่อเก็บเงินลูกค้า แต่ไม่มีการส่งมอบสินค้าจริง โฆษณาธุรกิจลูกโซ่ที่หลอกลวงเอาเงินลูกค้า โพสข่าวปลอม เป็นต้น)
  • การกด like & Share ข่าวหรือข้อมูลปลอม อันเป็นการให้เพื่อนใน social network ได้เห็นข้อมูลดังกล่าวด้วย ก็ถือเป็นความผิดตาม พรบ คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 เช่นกัน
  • เป็นแอดมินเพจที่ปล่อยให้มีข่าวหรือข้อมูลปลอมเผยแพร่ในเพจตัวเอง โดยมิได้ทำการลบทิ้ง
  • โพสหรือเผยแพร่ภาพเปลือย ภาพลามกอนาจารของคนรู้จัก หรือ คนรักเก่า อันเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับความอับอาย หรือเสียหาย

บทลงโทษ

หากเป็นการกระทำที่ส่งผลถึงประชาชน ต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากเป็นกรณีที่เป็นการกระทำที่ส่งผลต่อบุคลใดบุคคลหนึ่ง ต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (แต่ในกรณีอย่างหลังนี้สามารถยอมความกันได้)

พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มาตรา 16 | ตัวอย่างการกระทำผิด

กระทำการเผยแพร่ภาพที่สร้างขึ้น หรือภาพตัดต่อ อันเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับการดูหมิ่น อับอาย หรือ เสียชื่อเสียง ตัวอย่างเช่น

  • เผยแพร่ข้อมูลเยาวชน โดยไม่มีการปกปิดตัวตนของเยาวชนท่านนั้น โดยตามกฏหมาย หากเปิดเผยตัวตนเยาวชนสู่สาธารณะ อาจทำให้ใช้ชีวิตในสังคมลำบาก อาจถูกดูหมิ่น เกลียดชัง
  • เผยแพร่ภาพของผู้เสียชีวิต อันส่งผลให้พ่อแม่หรือคู่สมรสของผู้ตาย เกิดความอับอาย

บทลงโทษ

ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 3 ปี เดือน ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

กรณีศึกษา: การทำผิดกฎหมายคอมพิวเตอร์ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

หลังจากมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับที่ 2 ก็มีเคสที่เข้าข่ายกระทำความผิด พ.ร.บ. ออกมาให้เห็นกันบ้างค่ะ เพื่อสร้างความเข้าใจมากขึ้น เราเลยขอยกตัวอย่างเคสที่อาจผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาให้อ่านกันค่ะ

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

เคสแรก เป็นเคสที่ออกข่าวอย่างโด่งดังเช่นกัน เป็นกรณีที่มีชายหนุ่มคนหนึ่งถ่ายรูปตึกที่มีลักษณะเอนๆ พร้อมโพสต์ข้อความประมาณว่า ตึกทรุดตัว ลงบน Facebook เลยทำให้เกิดเป็นประเด็นที่หลายเอาตกอกตกใจไปกันใหญ่ แต่ต่อมาก็มีการเปิดเผยว่า ตึกที่เห็นนั้นเป็นเพียงดีไซน์ของตึกที่ตั้งใจจะให้เอนแบบนั้นอยู่แล้ว เลยทำให้เจ้าของโพสต์ถูกตำรวจเรียกสอบสวน เพราะเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ม.14 (2) นำข้อความเท็จเข้าระบบคอมพิวเตอร์ อันเป็นเท็จก่อให้เกิดความตื่นตระหนก

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

อีกกรณีหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ก็สามารถช่วยคุ้มครองผู้ที่ใช้งานคอมพิวเตอร์หรืออินเตอร์เน็ตได้ด้วย อย่างเช่นกรณีคดีของคุณบริบูรณ์ เกียงวรางกูล ที่ถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาท และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (1) จากการโพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ตำรวจเข้าค้นบ้าน โดยอ้างอำนาจตาม มาตรา 44

ซึ่งคุณบริบูรณ์ได้ยื่นหนังสือร้องความเป็นธรรมต่อศาลว่า ปัจจุบันได้มีการใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 แล้ว โดยพ.ร.บ.ดังกล่าวได้ยกเลิกข้อความใน มาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับเดิม และบัญญัติใหม่ไว้ว่า ห้ามมิให้นำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้ลงโทษกับการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา จึงขอให้อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ผลก็คือ อัยการศาลจังหวัดราชบุรีมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีบริบูรณ์ในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

เราก็จะเริ่มเห็นว่า ได้เริ่มมีการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กันอย่างจริงจัง และมีการปรับใช้ให้ตรงตาม พ.ร.บ. ที่แก้ไข ไม่ใช่แค่จับกุมผู้ทำผิด แต่ยังคุ้มครองผู้ที่ไม่มีความผิดใน พ.ร.บ. ฉบับที่ 2 แล้ว

ส่วนใครที่อยากอ่าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 หรือฉบับที่ 2 ต่อเพิ่มเติม สามารถอ่านฉบับเต็มได้ที่เว็บไซต์ทางการนี้เลยค่ะ

Shifu แนะนำ
ยังมีอีกเรื่องที่เจ้าของเว็บไซต์ควรรู้ ว่าด้วยกฎหมาย Data Privacy & Data Protection การใช้ข้อมูล การให้และยินยอมข้อมูลบทโลกดิจิทัล ในบทความ สรุปกฎหมาย PDPA พร้อมแผนปรับตัวและจัดการข้อมูล

สรุป

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 หรือฉบับที่ 2 ปัจจุบันมีผลบังคับใช้แล้ว ถ้าเราเป็นคนหนึ่งที่คลุกคลีกับการใช้งานคอมพิวเตอร์ หรืออินเตอร์เน็ต ก็ควรจะรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ. นี้ไว้ค่ะ เพราะเราจะได้ไม่เผลอไปทำความผิด อย่างน้อยๆ ต้องระวัง 8 ประเด็นที่เราได้เขียนเอาไว้เลยค่ะ อีกทั้งการมี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ขึ้นมา ก็ถือว่าเป็นการควบคุมการใช้งานคอมพิวเตอร์ในระดับหนึ่ง และในทางหนึ่งก็ช่วยคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้งานด้วย

ตาคุณแล้ว

คราวนี้ก็ถึงเวลามาทบทวนประเด็นที่เราไม่ควรทำเวลาใช้งานคอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ต แม้เราจะไม่มีเจตนาจะก่อความผิดอะไร แต่บางทีด้วยความที่ไม่รู้ก็อาจทำให้เราลงมือกระทำความผิดคอมพิวเตอร์ไปโดยไม่รู้ตัวก็ได้

ดังนั้น รู้เอาไว้ไม่เสียหาย เพื่อจะได้ไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ค่ะ